COLUMNIST

FIT ชี้ชะตาพลังงานทดแทนไทย
POSTED ON -


 

พลังงานทดแทน (Renewable Energy) ชนิดใดๆ ในโลก หากจะเปรียบเทียบราคาซื้อ-ขายกันแล้ว พลังงานทดแทนเกือบทั้งหมดที่มีในโลกใบนี้ราคาจะสูงกว่าพลังงานจากฟอสซิล และเมื่อมติโลกลงความเห็นให้ทุกประเทศต้องหันมาใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดวิกฤตการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลก ซึ่งปัจจุบันโลกเราเหมือนผู้สูงอายุจะรักษาให้แข็งแรงเหมือนเดิมคงจะเป็นไปไม่ได้ ทางเดียวที่ทำได้ก็คือ "เยียวยาให้มีอายุยืนยาวเท่าที่ทำได้" เท่านั้น

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกประเทศทั่วโลกแม้กระทั่งประเทศพัฒนาน้อยต่างก็มีการกำหนดมาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้สอดคล้องกับประเทศของตน เช่น ประเทศที่ลมแรงสม่ำเสมอก็เร่งส่งเสริมพลังงานลมจนเป็นอุตสาหกรรมส่งออก ทำรายได้เข้าประเทศ ส่วนประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร เพาะปลูกงอกงามตลอดทั้งปี ก็โหมไปทางด้าน Bio Energy อย่างเช่น ประเทศไทย ส่วนประเทศพัฒนาน้อยก็มีมาตรการเชิญชวนที่น่าสนใจให้ต่างชาติเข้าไปร่วมลงทุนเป็นต้น

 

ที่ขาดไม่ได้ ก็คือ มาตรการส่งเสริมเพื่อชดเชยราคาของพลังงานที่แตกต่างกันระหว่างพลังงานทดแทน และพลังงานจากฟอสซิลที่นิยมกันทั่วโลก อาจมีหลายแบบ เช่น Adder เป็นการบวกเพิ่มราคาค่าไฟฟ้าในช่วงแรกๆ เช่น 7 หรือ 10 ปี เหมาะกับพลังงานทดแทนที่ต้องใช้ชีวมวลเป็นวัตถุดิบ (Feedstock) เนื่องจากราคาวัตถุดิบผันแปรตามภาวะเศรษฐกิจและราคาพลังงานของโลก

 

พลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับการใช้ Adder ได้แก่ Biomass, Biogas และ Waste to Energy (พลังงานจากขยะ) ส่วนพลังงานที่ได้จากธรรมชาติอย่างสายลมแสงแดด เช่น Solar และ Wind เหมาะกับการใช้มาตรการส่งเสริมแบบ FIT (Feed-in Tariff) คือ การกำหนดอัตราตายตัวตลอดระยะเวลาสัญญาระยะยาว 20-25 ปี เนื่องจากไม่มีตัวแปรจาก Feedstock

 

นอกจากนี้ ค่า O&M (Operation & Maintenance) ของพลังงานธรรมชาติยังค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานชีวมวล ส่วนเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น Biodiesel และ Ethanol ภาครัฐก็มีการบริหารจัดการอุดหนุนราคาในรูปแบบต่างๆ ซึ่งหากปลอดจากการเมืองแล้ว ผู้รับประโยชน์ก็จะเป็นชาวไร่ของเรานั่นเอง

 

จากภาพรวมที่กล่าวมานี้พอสรุปได้ว่า การอุดหนุนพลังงานทดแทนแบบ FIT ไม่ต่างกับการเล่นหุ้นหรือประมูลซื้อ-ขายสินค้า ซึ่งอยู่ที่อุปสงค์-อุปทาน เมื่อผู้เสนอซื้อ คือ ภาครัฐ ผู้เข้าประมูล คือ ภาคเอกชน ดังนั้น ปัจจัยสู่ความสำเร็จ หรือ Key Success ก็คือ "ราคากลาง" จึงมีความจำเป็นต้องได้ผู้มีประสบการณ์ในหลากหลายธุรกิจพลังงานมาร่วมกำหนดราคากลาง ลำพังนักวิชาการผู้อ่านมากเขียนมากอาจไม่เพียงพอ เพราะนี่คือการชี้ชะตาพลังงานทดแทนของประเทศ

 

มาลองวิเคราะห์แผน RE ที่เลิศหรูของไทยเรา ไม่ว่าจะไปเผยแพร่ที่ไหนก็ออกจะได้หน้าไปทั่วโลก ผู้รู้ที่พูดไม่ออกคือ กลุ่ม 3 กลุ่ม หรือก็คือการไฟฟ้าฯ ทั้ง 3 แห่งนั่นเอง ว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นอย่างไร

 

จากมุมมองภาคเอกชนต่อแผนส่งเสริมพลังงานทดแทน (AEDP) ปี 2564 ยังขาดการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม ดังนี้

 

1. พลังงานธรรมชาติที่เป็นเชิงพาณิชย์ (Solar และ Wind) ตามแผน AEDP พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 3,000 MW และพลังงานไฟฟ้าจากลม 1,800 MW ถึงเป้าหมายแน่นอน เนื่องจากเป็นพลังงานจากธรรมชาติ เมื่อพัฒนาโครงการเสร็จสามารถนำไปขายทำกำไรในตลาดได้ทันที ตามที่พวกเราเคยเรียกพลังงานทดแทนทั้ง Wind และ Solar ว่า “พลังงานแห่งเกมการเงิน” และสิ่งที่ท่านควรทราบแต่ไม่ค่อยมีสื่อใดๆ ออกมาพูดถึง ก็คือ พลังงานทั้งสองชนิดนี้มีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 13-20% นั่นหมายถึง 1 MW จะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 150 kW

 

เนื่องจากลมในประเทศไทยเป็นแบบลมเพลมพัด ไม่สม่ำเสมอ ส่วนแสงแดดก็มี 5-6 ชั่วโมงเท่านั้น จึงไม่ควรคิดว่าผู้ประกอบการเหล่านี้จะร่ำรวย ทั้งนี้ รวมทั้งแผง Solar บนหลังคาบ้านท่านด้วยก็มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากนี้ ถึงแม้ท่านจะติดตั้งแผงให้เกินกว่าที่กำหนด แต่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็กำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 20% เท่านั้น

 

2. พลังงานชีวมวล (Biomass) กำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าไว้ที่ 4,800 MW บวกกับพลังงานความร้อน 8,500 Ktoe คิดง่ายๆ ประมาณ 30,000 MW เป็นวิสัยทัศน์ที่ดี แต่ถ้าไม่มีพันธกิจรองรับที่ดี คาดว่าปี 2564 จะได้เต็มที่ไม่น่าเกิน 30% (สุทธิ)

 

ส่วน "Biogas" เนื่องจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้เดินหน้าโครงการนำร่อง 5 ปีที่ผ่านมาไว้ดีมาก จึงไม่น่ามีปัญหา อยากจะให้ถึงเป้าหมายก็เพียงเสนอซื้อแพงหน่อยเท่านั้น แต่ถ้าเป็นหญ้าเนเปียร์คงต้องรอผลลัพธ์ของ 300 ล้านบาท ที่ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) โปรยออกไปให้สร้าง Pilot Plant แต่บอกก่อนได้ว่างานนี้เหนื่อยแน่นอน เนื่องจากเนเปียร์เป็นพืชพลังงานของคนใจรัก ไม่ใช่นักลงทุน ดังนั้น FIT ที่เหมาะสมของหญ้าเนเปียร์ต้อง 6.50 บาทขึ้นไป ยืนยัน!

 

สำหรับ "พลังงานขยะ" (Waste to Energy) หากอัตราส่งเสริม VSPP สูงกว่านี้ ก็คงจะเดินหน้าต่อไปได้ในนาทีนี้ ภาครัฐควรลงทุนด้านพลังงานขยะ หากเป็น FIT ควรจะอยู่ที่ 6.20 บาท สำหรับ VSPP เนื่องจากได้ทั้งพลังงาน และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีพร้อม นักลงทุนพร้อม ถ้าส่งเสริมดีๆ มีหรือจะไม่ถึงเป้าหมาย 400 MW

 

3. เชื้อเพลิงชีวภาพ ประกอบด้วย "เอทานอล" และ "ไบโอดีเซล" พลังงานทดแทนที่อยู่นอกสายตาผู้แสวงประโยชน์ระยะสั้นจากพลังงานทดแทน เนื่องจากต้นทุน 80% มาจากวัตถุดิบ ซึ่งชาวไร่ถือเป็นหุ้นใหญ่ของเอทานอลและไบโอดีเซล ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ท่านอาจไม่ได้ยินข่าวเชิงลบจากพลังงาน 2 ชนิดนี้ ทั้งที่มีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของพลังงานทดแทนที่รัฐส่งเสริม และโอกาสถึงเป้าหมายไม่ยากเลย ไม่รู้ว่าจะชมข้าราชการ นักการเมือง หรือผู้ประกอบการ ที่รวมตัวกันเข้มแข็งดี เอาเป็นว่าชาวไร่เป็นผู้ได้รับประโยชน์ ไม่ถูกกดราคาผลิตผล เท่านี้ก็พอ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้อย่าลืมนำเศษวัสดุของพืชพลังงานมาใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด จะได้เป็นธุรกิจ Zero Waste ที่เชิดหน้าชูตาชาวอุษาคเนย์

 

เราเชื่อมั่นว่า ในที่สุดเรื่องของพลังงานและพลังงานทดแทน ประชาชนจะต้องเข้าถึงตามลำดับชั้นของความสำคัญ เนื่องจากเป็นสมบัติชาติ เป็นมรดกของบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน ไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลังงานทดแทนต้องอยู่ในมือของคนไทย บริหารจัดการโดยรัฐ-เอกชน-ชุมชน “ชะตาของพลังงานทดแทนคือชะตาของบ้านเมือง” ต้องร่วมกันกำหนดและร่วมรับทั้งผิดและชอบ